ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินโครงการศูนย์ภาษา ภายใต้การดูแลของหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู ซึ่งมีทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งศูนย์ภาษา วิทยาลัยครูเชียงใหม่ เป็นศูนย์ภาษาที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ถัดจากศูนย์ภาษา วิทยาลัยครูจันทรเกษม โดยมีอาจารย์มานี ธรรมรักษ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดภาษาอังกฤษเป็นหัวหน้าศูนย์ภาษาโดยตำแหน่ง โดยใช้ห้อง 128 เป็นห้องศูนย์ภาษา เมื่อได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ภาษาแล้ว ก็มีอาจารย์ชาวต่างประเทศมาช่วยสอนประจำศูนย์ฯ ทุกปี และยังได้รับความช่วยเหลือด้านบุคลากรจากหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps) และองค์กรอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) บทบาทหน้าที่ของภาควิชาและศูนย์ภาษาได้ขยายงานด้านบริการสู่ชุมชนหลายรูปแบบ อาทิ ร่วมมือกับหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครูจัดอบรมบุคลากรด้าน วรรณคดีอังกฤษ-อเมริกัน ภาษาศาสตร์และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทุกปี จัดนิทรรศการวันเด็ก และนิทรรศการวิชาการประจำปี จัดการแสดงละครภาษาอังกฤษ จัดโครงการพิเศษสอนภาษาอังกฤษ ในภาคฤดูร้อนให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับประถมและมัธยมศึกษาในท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง และยังให้ความร่วมมือในการจัดสอนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกด้วย ด้านการพัฒนาบุคลากร กรมการฝึกหัดครูได้ส่งเสริมให้อาจารย์จากศูนย์ภาษามีโอกาสสอบคัดเลือกไปอบรมที่ประเทศอังกฤษ โดยทุน The British Council จำนวน 5 ท่าน คือ อาจารย์มานี ธรรมรักษ์ อาจารย์กมล วัชรยิ่งยง อาจารย์บุบผชาติ พันธุ์ศรี อาจารย์บุญเรือน วัฒนวงค์ และ อาจารย์พูนรัตน์ แสงหนุ่ม
ในปี พ.ศ. 2542 ศูนย์ภาษาได้ย้ายมาอยู่ที่ห้อง 321
ในปี พ.ศ. 2546 ศูนย์ภาษาได้ย้ายไปอยู่ในความดูแลของสถาบันราชภัฏเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2548 กฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับฎีกา เล่ม 122 ตอนที่ 20 ก ลงวันที่ 8 มีนาคม 2548 กำหนดให้หน่วยงาน ชื่อ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ปฏิบัติหน้าที่เป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศและภาษาไทยสู่สากล บริการวิชาการและสื่อทันสมัยเพื่อฝึกทักษะทางภาษา พัฒนาความรู้และความสามารถทางด้านภาษาของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยและประชาชนในท้องถิ่น สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมดูแลสิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมและธรรมชาติ ตลอดจนสืบสานและเผยแพร่ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการรวมงานของ 3 หน่วยงาน ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ ศูนย์ภาษา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี วงศ์หล้า เป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษาฯ และศูนย์ภาษา ได้ย้ายมาดำเนินการที่อาคารราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร 27) ชั้น 4
ในปี พ.ศ. 2551 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชานาฏ สิตานุรักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ กำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม
ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีมติอนุมัติให้ออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยศูนย์ภาษา พ.ศ. 2557 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ให้ศูนย์ภาษาเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นโดยสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปทุมรัศมิ์ นาคนิษฐา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ภาษา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน
รายนามผู้บริหารศูนย์ภาษา
ตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ภาษา
อาจารย์มานี ธรรมรักษ์ (2523 – 2526)
อาจารย์กมล วัชรยิ่งยง (2527 – 2529)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภัสสร กระแสชัย (2529 – )
อาจารย์คณิต วนากมล
อาจารย์พูนรัตน์ แสงหนุ่ม
อาจารย์บุญเรือน วัฒนวงค์ ( – 2547)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย สาเอี่ยม (2547 – 2548)
ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม รับผิดชอบงานศูนย์ภาษา
อาจารย์นิตยา สงวนงาม (2548)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรรมกิตติ์ ธรรมโม (2548)
อาจารย์ภัทรกมล รักสวน (2548 – 2552)
อาจารย์ฉันทนา ศศิธรามาศ (2552 – 2556)
อาจารย์นิโลบล วิมลสิทธิชัย (2556)
ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ภาษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปทมรัศมิ์ นาคนิษฐนนต์ (2557 – xxxx)
ดร. เกียรติชัย สายตาคำ (xxxx-xxxx)
ดร. วรศิริ บุญซื่อ (xxxx-xxxx)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี รังษีชัชวาลย์ (xxxx-xxxx)